ทำไมต้องกู้เพิ่มอีก 7 แสนล้านแก้พิษโควิด-19

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ครม.เปิดไฟเขียว เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทตามที่กระทรวงการคลังเสนอ การกู้เงินรอบนี้เป็นการกู้เพิ่มเติมจากวงเงินกู้ของเดิม 1 ล้านล้าน ที่เคยกู้เงินมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆจากกระทรวงคลังฯเจ้าของเรื่อง อีกด้านหนึ่งทางภาคเอกชนค่อนข้างจะเห็นด้วย และประกาศหนุนชัดเจน เพราะมองว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหน่วง อาจจะลากยาวออกไปอีก โดยไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องไปกู้เงินเพิ่มอีก 7แสนล้าน เงินกู้ก้อนนี้เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ของเก่าเงินกู้ก้อนเดิม 1 ล้านล้านที่ใช้แล้วเหลือเท่าไหร่ รวมถึงประเด็นที่หลายฝ่ายมีคำถามเข้ามามากมาย กังวลว่ารัฐบาลจะใช้เงินไม่คุ้มค่า เพราะถ้ามองในเชิงหลักการ เงินกู้ก้อนนี้ มีการออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด นั่นหมายความว่า กฎหมายยังไม่ต้องผ่านกลไกตรวจสอบของสภา อธิบายง่ายๆ ใช้เงินไปก่อนแล้วมาตรวจสอบที่หลัง ลองมาดูกันว่า ที่รัฐบาลจะกู้เพิ่ม 7 แสนล้าน เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง แผนการใช้เงินกู้ก้อนใหม่วงเงิน 7 แสนล้านบาทรอบนี้ ประกอบไปด้วย 3 แผนงาน 1.) ด้านสาธารณะสุข จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ยา วัคซีน จำนวน 3 หมื่นล้าน 2.) เยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ วงเงิน 4 แสนล้าน 3.) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 2.7 แสนล้าน
ทำไมต้องกู้เพิ่มอีก ทางกระทรวงคลังฯรายงานให้ครม.รับทราบว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่ง เยียวยา ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งมีข้อจำกัดเรื่องการทำงบประมาณและวงเงินกู้ก้อนเดิมมีการเบิกจ่ายเกือบจะเต็มทุกแผนงานแล้ว รวมถึงงบกลางที่ตั้งไว้ของปี 64 วงเงิน 99,000 ล้านบาท ต้องสำรองไว้ใช้กรณีฉุกเฉินอื่นๆ เช่น การเกิดอุทกภัย ภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ ส่วนการโอนงบประมาณในปี งบ 64 เป็นงบที่มีการผูกพันงบประมาณไปแล้ว เช่น พวกรายจ่ายประจำ จะให้ไปรอใช้งบปี 65 กว่าจะอนุมัติก็เดือน ต.ค.ซึ่งไม่ทันสถานการณ์ตรงนี้ถ้ามองในเชิงหลักการตาข้อเสนอของกระทรวงการคลังถึงเหตุผลและความจำเป็นก็พอจะเข้าใจได้ เพราะเงินงบประมาณปกติไม่เพียงพอ แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายเกิดความกังวลคือ การบริหารจัดการเงินกู้ของรัฐบาลรอบนี้จะมีประสิทธิภาพแค่ไหน อย่าลืมว่า การกู้เงินเพิ่มย่อมมีผลผูกพันต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทางมุมมองของภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคุณสนั่น อังอุบลกุล บอกว่า จากการประชุมกกร. เอกชนเห็นด้วยกับการกู้เงิน 7 แสนล้าน เพราะผู้ประกอบการและประชาชนได้รับผลกระทบหนัก แต่ก็กังวลอยู่บ้างว่าเม็ดเงินอาจจะลงไปแก้ไปหาได้ไม่ตรงจุด แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย เพราะถ้าดูอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 2 ติดลบไป 2.6% แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการฉีดวัคซีนแต่ไม่มีเม็ดเงินลงมา เศรษฐกิจก็เดินต่อยาก